วัดชลธาราสิงเห (วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย)
วัดแห่งนี้สร้างขึ้นโดยพระสงฆ์รูปหนึ่งเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ในชุมชนเก่าแก่ที่มีภาษาเป็นของตัวเอง ผมเชื่อว่าท่านก็คงไม่รู้ว่าราว 40 ปีต่อมา วัดแห่งนี้จะกลายเป็นเหตุผลสำคัญในการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับมาเลเซีย ที่ช่วยรักษาให้พื้นที่นี้ยังคงอยู่ใต้การปกครองของสยาม
วันนี้ผมจะขอพาไปชมวัดชลธาราสิงเห หรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย ครับ
![เมื่ออารามช่วยรักษาดินแดนตากใบให้คงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน](https://readthecloud.co/wp-content/uploads/2019/10/chon-thara-singhe-1.jpg)
วัดชลธาราสิงเหตั้งอยู่บนเนินทรายระหว่างแม่น้ำตากใบกับพรุบางน้อย พระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด) เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นราว พ.ศ. 2403 โดยขอที่ดินจาก พระยาเดชานุชิตมหิศรายานุกูลวิบูลย์ภักดี หรือตุวันสนิปากแดง ผู้เป็นพระยากลันตันในเวลานั้น
ในตอนแรกวัดแห่งนี้ถูกเรียกว่า วัดท่าพรุ หรือวัดเจ๊ะเห ตามชื่อหมู่บ้านที่วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ ต่อมาใน พ.ศ. 2416 พระอาจารย์พุดได้สร้างพระอุโบสถ โดยมอบหมายให้พระไชยวัดเกาะสะท้อนเป็นช่างก่อสร้างรวมทั้งเขียนจิตรกรรม มีพระธรรมวินัย (จุ้ย) และทิดมี ช่างชาวสงขลา ร่วมเขียนภาพในพระอุโบสถและกุฏิ พร้อมสร้างพระประธาน กำแพงแก้วล้อมพระอุโบสถ เมื่อสร้างเสร็จจึงขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใน พ.ศ. 2426 ก่อนที่จะบูรณะปรับปรุงและก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมในเวลาต่อมา
วัดแห่งนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นวัดชลธาราสิงเหอย่างที่เราเรียกกันในปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2452 โดย ขุนสมานธาตุวฤทธิ์ (เปลี่ยน กาญจนรัตน์) นายอำเภอตากใบ ซึ่งชื่อใหม่ของวัดมีความหมายว่า วัดริมน้ำที่สร้างด้วยภิกษุที่มีบุญฤทธิ์ประดุจราชสีห์ เนื่องจากวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำตากใบ อีกทั้งพระภิกษุผู้สร้างวัดคือพระครูโอภาสพุทธคุณ พระที่ชาวบ้านนับถือศรัทธา และเป็นที่เกรงขามประดุจราชสีห์
นอกจากประวัติที่เล่าให้ฟังไปแล้ว ความสำคัญจริงๆ ของวัดนี้คือเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ เพราะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อสยามมีกรณีพิพาทกับสหราชอาณาจักรเรื่องการปักปันเขตแดน เพราะสหราชอาณาจักรได้ปักปันเขตแดนเข้ามาถึงบ้านปลักเล็ก ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากวัดชลธาราสิงเหราว 25 กิโลเมตร ล้ำเข้ามาจากเขตแดนปัจจุบันถึง 30 กิโลเมตร แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแย้งโดยให้เหตุผลว่า วัดชลธาราสิงเหและวัดอื่นในละแวกนี้เป็นศิลปกรรมไทยอย่างแท้จริงและเป็นมรดกทางพุทธศาสนาที่สำคัญ จึงควรอยู่ภายใต้การพิทักษ์รักษาของสยาม
ฝ่ายอังกฤษยอมรับและเห็นพ้องว่าหากพุทธศิลปกรรมที่ทรงคุณค่าต้องตกอยู่ใต้การปกครองของมลายู อาจถูกทอดทิ้งหรือทำลาย ฝ่ายอังกฤษจึงต้องเลื่อนจุดปักปันเขตแดนลงไปทางใต้ โดยใช้แนวแม่น้ำตากใบ-สุไหงโก-ลกเป็นพรมแดนแทน ทำให้อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโก-ลก และบางส่วนของอำเภอแว้ง ที่เคยอยู่ใต้การปกครองของรัฐกลันตันยังคงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย’
ฟังประวัติอันน่าสนใจของวัดและที่มาของชื่อวัดกันแล้ว ได้เวลาไปชมตัววัดกันแล้วครับ
![วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย เมื่ออารามช่วยรักษาดินแดนตากใบให้คงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน](https://readthecloud.co/wp-content/uploads/2019/10/chon-thara-singhe-5-750x500.jpg)
วัดชลธาราสิงเหมีพระอุโบสถขนาดกำลังดี ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว หันหน้าไปทางแม่น้ำตากใบ
เรื่องหนึ่งที่ผมไม่ได้เล่าไปก่อนหน้าเพราะรู้สึกว่ามันจะยาวเกินไปก็คือ พระอุโบสถหลังนี้ไม่ใช่หลังแรกของวัด เพราะแต่ดั้งแต่เดิมเคยมีโบสถ์น้ำที่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำมาก่อนด้วยครับ
พระอุโบสถหลังนี้ไม่ได้แตกต่างจากพระอุโบสถของภาคกลางหรือในกรุงเทพมหานครเท่าไหร่ หน้าบันมีรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ มีเทวดาคู่หนึ่งถือป้ายที่มีตัวเลข 2416 บอกปีที่พระอุโบสถถูกสร้างขึ้น
แต่ที่เรียกได้ว่าต่างจากพระอุโบสถส่วนใหญ่ คือจิตรกรรมที่ตกแต่งโดยรอบอุโบสถ ไม่เพียงเฉพาะหน้าบัน ซึ่งเจาะเป็นช่องเล็กๆ และใส่รูปคนเข้าไป แถมยังแทรกภาพชาวมุสลิมและพราหมณ์เอาไว้ด้วย เก๋ไก๋ยิ่งนัก
https://readthecloud.co/chon-thara-singhe-temple-phitak-pan-din-thai-temple-narathiwat/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น